การขยายพันธุ์กล้วยไม้
การขยายพันธุ์กล้วยไม้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดแยกอย่างง่าย ๆ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) หรือการเพาะเมล็ด ซึ่งต้องใช้เทคนิคและความชำนาญเป็นพิเศษ มีเป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ให้มีมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในการผสมเกสรและเพาะเมล็ด เพื่อนำเอาวิชาการผสมพันธุ์เข้าไปประกอบกับเทคนิคในการเพาะเมล็ดจะนำไปสู่กล้วยไม้ลูกผสมที่มีคุณลักษณะใหม่ ๆ แปลก ๆ ออกไปอีกในอนาคต นอกจากนี้การขยายพันธุ์กล้วยไม้ยังจะเป็นการช่วยให้กล้วยไม้ที่มีอายุแก่เกินไปกลับมีสภาพแข็งแรงและมีกำลังเจริญเติบโตต่อไป เนื่องจากกล้วยไม้ที่แก่เกินไปมักจะพักตัวนาน ประสิทธิภาพในการให้ดอกต่ำกว่าที่ควรและทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ตัวอย่างเช่น หวายปอมปาตัวร์ที่เจ้าของปล่อยไว้ในกระถางจนมีขนาดสูงประมาณ 1 เมตร และมีกอใหญ่ จะประกฎผลให้เห็นว่าหลังจากหมดฤดูออกดอกแล้ว จะพักตัวนานกว่าจะแตกหน่อใหม่ แต่ถ้าหากได้ตัดแยกเพิ่มปริมาณแม้ว่าจะได้ต้นเล็ก แต่ก็จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้นสูงขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดกลางจะเจริญเติบโตแข็งแรงและให้ดอกดี บางต้นอาจแตกหน่อใหม่ ขณะที่ลำอื่น ๆ ให้ดอกด้วยก็ได้
วิธีการขยายพันธุ์กล้วยไม้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีคือ
1. การขยายพันธุ์โดยไม่มีการผสมเกสร คือการเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของกล้วยไม้ซึ่งมิใช่ผลของการผสมเกสร คือไม่ใช้เมล็ดไปทำการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณกล้วยไม้ วิธีการที่นิยมคือ
- ตัดแยกลำหน้าลำหลัง เหมาะสำหรับกล้วยไม้ประเภทซิมโพเดี้ยล
- ตัดลำแก่ปักชำ เหมาะสำหรับกล้วยไม้ซิมโพเดี้ยล โดยเฉพาะสกุลหวายบางหมู่
- ตัดยอดและการแยกหน่อ เหมาะสำหรับกล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยล
- เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เหมาะสำหรับกล้วยไม้ทั่ว ๆ ไป
2. การขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรและเพาะเมล็ดคือ การเอาเมล็ดซึ่งเป็นส่วนที่เกิดขึ้นจากผลของการผสมเกสรมาเพาะเป็นต้นกล้วยไม้
- การผสมในต้นเดียวกันเองหรือระหว่างต้นที่แยกมาจากต้นเดียวกัน
- การผสมข้ามต้น (Interclonal)
- การผสมข้ามหมู่ (Intersection)
- การผสมข้ามชนิด (Interspecific)
- การผสมข้ามสกุล (Intergeneric)
อย่างไรก็ตาม การขยายพันธุ์โดยไม่มีการผสมเกสร นอกจากจะได้ต้นมากขึ้นต้นกล้วยไม้ที่ได้จะมีคุณลักษณะเหมือนเดิม อาจผิดเพี้ยนบ้างแต่ก็อยู่ภายในขอบเขตที่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางพันธุศาสตร์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนการขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรและเพาะเมล็ดจะมีผลที่ได้รับแตกต่างจากการขยายพันธุ์โดยวิธีแรกกล่าวคือ หากต้นที่ใช้ผสมเป็นพันธุ์แท้ ลูกผสมที่ได้จะอยู่ขอบเขตพันธุ์แท้ไม่ผิดเพี้ยนกันมาก แต่ถ้าหากเป็นลูกผสมมาแล้วความผิดเพี้ยนในระหว่างลูกผสมด้วยกันจะมีมากหรือน้อยย่อมแล้วแต่ว่าต้นที่ใช้ผสมนั้นเป็นลูกผสมซับซ้อนมากเพียงใดจุดประสงค์ประการสำคัญที่จะต้องขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรและเพาะเมล็ดก็คือจะได้กล้วยไม้ซึ่งให้ดอกที่มีลักษณะใหม่ ๆ แปลก ๆ หรือประสงค์ที่จะพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ ให้ดีเด่นยิ่ง ๆ ขึ้นไป
วงจนชีวิตของกล้วยไม้สามารถจะแสดงได้ดังรูป การผสมเกสรระหว่างดอกพ่อและดอกแม่ (ในกรณีผสมข้ามต้นเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่) เมื่อผสมเสร็จแล้วโตต่อไป นอกจากการเพาะกล้วยไม้โดยวิธีการผสมเกสรแล้ว อาจจะเพาะโดยอาศัยลูกกล้วยไม้ที่ได้จากการนำตากล้วยไม้ไปปั่นตา ซึ่งจะได้ลูกกล้วยไม้เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าการใช้หน่อกล้วยไม้ไปเพาะจากลูกกล้วยไม้ในขวดเพาะ มีวิธีปฏิบัติได้ 2 ทางคือ
1. ลูกกล้วยไม้จากขวดเพาะเป็นต้นขนาดเล็กนำไปปลูกรวมกันในกระถางหมู่ เมื่อลูกกล้วยไม้ในกระถางหมู่มีขนาดโตพอ ก็จะแยกปลูกในกระถางเดี่ยวและจะกลายเป็นกล้วยไม้โตต่อไป
2. ลูกกล้วยไม้จากขวดเพาะเป็นต้นขนาดโตพอจะปลูกในกระถางเดี่ยวได้ซึ่งขนาดของกระถางเท่ากับ 1 – 1ครึ่ง นิ้ว หลังจากนั้นก็ย้ายกระถางไปปลูกลงกระถางขนาด 2ครึ่ง นิ้ว
การเพาะกล้วยไม้ทั้งสองวิธีนี้ กล้วยไม้จะออกดอก ในกระถางหรือกระเช้าขนาด 5 นิ้ว
http://www.nsru.ac.th/oldnsru/data/orkid/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C.htm
วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น